วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

องค์ประกอบของกฏหาย


กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ

๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).
๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป

๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า บทบัญญัติ คืออะไร เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า
“บท”
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง
“บัญญัติ”
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.
“ข้อบังคับ” หรือ “กฎข้อบังคับ” หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย.
“บังคับ”
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
“บทบัญญัติ” หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.
“ลายลักษณ์” หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.
“อักษร” หมายความว่า ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด.
จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้ ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.

๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า อำนาจคืออะไร?
คำว่า “อำนาจ” มีหลายความหมาย คือ
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์.
๐ กำลัง, ความรุนแรง, เช่นชอบใช้อำนาจ.
๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.

๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ปกครองด้วยกัน กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”
กฎหมายปกครอง มีองค์ประกอบ ที่เป็นสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. สถาบัน ๒. ตำแหน่ง ๓. หน้าที่ ๔. อำนาจ ๕. ความรับผิดชอบ.
(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า “กฎหมายเอกชน”
กฎหมายเอกชน มีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการ คือ


๑. สถานภาพ ๒. สิทธิ ๓. หน้าที่ ๔. ความรับผิด

๔. กฎหมาย ต้องมีสภาพบังคับ

มาตรการบังคับของกฎหมาย
กฎหมายได้กำหนดมาตรการ และ วิธีการบังคับไว้ ๒ ประเภทคือ
(๑) การลงโทษ
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ.
(๑) การลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอาญา จะต้องรับผิดในทางอาญา โดยจะต้องถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
คำว่า "โทษ" หมายความว่า มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ดำเนินการแก่ ผู้กระทำความผิดอาญา
โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา มี ๕ ประการคือ
๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สิน
คำว่า " ลงโทษ" หมายความว่า ทำโทษ เช่น จำขัง จำคุก เป็นต้น.
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย เป็นสภาพบังคับทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ การบังคับให้ชำระหนี้ หากไม่ชำระจะถูกบังคับยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น ไม่มีการลงโทษเหมือนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอาญา.



เว้นแต่ ในชั้นบังคับคดี บางกรณี คดีที่ศาลออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดี หรือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการ) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี และผู้ชนะคดี หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามากักขังไว้ เพื่อบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า หกเดือน นับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี (ป.วิแพ่ง. มาตรา ๒๙๗, ๓๐๐.)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น