วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฎหมายหลักที่ใช้ปกครองประเทศ




กฎหมายปกครอง
กฎหมาย คือ บรรดาคำสั่ง ข้อห้าม หรือข้อบังคับ ของรัฐที่กำหนดพฤติกรรมของพลเมือง ที่ปฏิบัติต่อกัน เพื่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ โดยรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องกำหนดระเบียบการปกครอง เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการ
ความสำคัญของกฎหมาย บุคคลทุกคนต้องรู้กฎหมาย จะอ้างความไม่รู้กฎหมาย เป็นข้อแก้ตัว เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้
กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารปกครองประเทศ และถือเป็นแม่บท ของกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ในการปกครอง
กฎหมายรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติ เกี่ยวกับการแบ่งอำนาจ อธิปไตยออกเป็นองค์กรทางเมืองต่าง ๆ ไว้เป็น ๓ องค์ (อำนาจ) คือ
๑. อำนาจนิติบัญญัติ
๒. อำนาจบริหาร
๓. อำนาจตุลาการ
นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติ เกี่ยวกับที่มาของแต่ละอำนาจ หน้าที่ของแต่ละอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อป้องกันมิให้แต่ละองค์กร ใช้อำนาจและหน้าที่ จนทำให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม
การแบ่งประเภทของกฎหมายตามนิติสัมพันธ์
๑. กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชน
๒. กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน
การแบ่งประเภทของกฎหมายตามเนื้อหา
๑. กฎหมายสารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคล
๒. กฎหมายวิธีสบัญญัติ เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีเยียวยาเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิและหน้าที่ของบุคคล
กฎหมายมหาชน หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างองค์กรของรัฐกับเอกชน ในฐานะที่ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายปกครองผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และฝ่ายหนึ่งอยู่ใต้อำนาจปกครอง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง
ภารกิจของรัฐ ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ใช้อำนาจเพื่อควบคุมการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อ ป้องกันความไม่สงบเรียบร้อย ให้บริการสาธารณะสนองความต้องการของสังคมในเรื่องที่เอกชนไม่สามารถให้บริการได้
กฎหมายปกครอง เป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชน ว่าด้วย การจัดระเบียบบริหารองค์กรฝ่ายปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชน
กฎหมายปกครองแตกต่างกับกฎหมายอื่น คือ กฎหมายอื่นเมื่อประกาศใช้แล้วมักใช้ตลอดไปไม่แก้ไขบ่อย แต่กฎหมายปกครอง มักมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับภาวะบ้านเมืองอยู่เสมอ
กฎหมายปกครอง หมายถึง
๑. การจัดองค์กรของรัฐ ในทางการบริหาร
๒. การกระทำทางปกครอง ระเบียบและกรรมวิธีในการบริหารราชการ
๓. มาตรการและระเบียบการควบคุมการใช้อำนาจทางการปกครอง
กฎหมายปกครอง มีเนื้อหาสำคัญ ๓ ประการ
๑. กำหนดอำนาจของหน่วยราชการต่าง ๆ
๒. กำหนดหน้าที่ของหน่วยราชการและเจ้าหน้าที่
๓. กำหนดขอบเขต และพื้นที่การใช้อำนาจ
หลักนิติรัฐ คือ หลักการปกครองโดยใช้กฎหมาย ประชาชนจะถูกละเมิดจากรัฐ หน่วยงาน หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยปราศจากความยุติธรรมไม่ได้
เหตุที่ต้องควบคุมการใช้อำนาจรัฐ เพราะรัฐใช้อำนาจมากเกินไป และรัฐไม่ใช้อำนาจ สำหรับประชาชนมีสิทธิเท่าที่กฎหมายให้ไว้ และมีสิทธิเท่าที่กฎหมายไม่ห้าม
การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง ๒ ประเภท
๑. ตำรวจทางการปกครอง เป็นกระบวนการที่ฝ่ายปกครองบังคับ หรือกำหนดให้ปัจเจกชน ต้องปฏิบัติตาม เช่น การออกคำสั่งต่าง ๆ การอนุญาต การอนุมัติ การไม่อนุมัติ ฯ เพื่อ รักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
๒. การบริการสาธารณะ เป็นกระบวนการที่ฝ่ายปกครองจัดหา หรือ จัดให้มี เพื่อสนองความต้องการของประชาชน เช่น ถนนหนทาง การรักษาความสะอาด ฯ
วัตถุประสงค์ของตำรวจทางปกครอง
๑. การรักษาความสงบเรียบร้อย ได้แก่ ความมั่นคงปลอดภัย ความสงบสุข สุขอนามัย ปกป้องศีลธรรม
๒. การใช้อำนาจในทางป้องกัน ได้แก่ จำกัดความเร็วของยานยนต์ การสั่งห้ามเดินขบวน ฯ
ประเภทของตำรวจทางปกครอง
๑. ตำรวจทางปกครองทั่วไป ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจ ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่
๒. ตำรวจทางปกครองเฉพาะด้าน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจ ดูแลในบางเรื่องเป็นกรณีพิเศษ ด้วยวิธีการพิเศษ หรือเทคนิคเฉพาะด้าน เช่น ดูแลคนต่างด้าว ดูแลเรื่องล่าสัตว์
การใช้อำนาจของตำรวจทางปกครอง
๑. ออกกฎภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ได้แก่ กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับทั่วไป เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ ผู้ฝ่าฝืนมีบทลงโทษทางอาญา
๒. การออกคำสั่งเฉพาะบุคคล เช่น การอนุญาตให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ปกติคำสั่งจะเป็นลายลักษณ์อักษร บางครั้งอาจทำด้วยวาจา หรือใช้สัญญาณ เช่น ตำรวจโบกรถให้หยุด ฯ
๓. การปฏิบัติทางกายภาพ ได้แก่ การใช้กำลังเพื่อหยุดยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม เช่น การใช้อาวุธ หรือการใช้กำลังสลายการชุมนุม
ผู้ใช้อำนาจตำรวจทางปกครอง
๑. นายกรัฐมนตรี ออกกฎเกณฑ์ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป
๒. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้คำแนะนำแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการใช้อำนาจของตำรวจทางปกครอง
๓. ผู้ว่าราชการจังหวัด การรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัด ด้านจราจร กรณีเกิดภัยพิบัติ อุบัติเหตุร้ายแรง
๔.นายกเทศมนตรี กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัย ความสงบสุข
สุขอนามัย
ข้อจำกัดการใช้อำนาจตำรวจทางปกครอง ต้องอยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย (หลักนิติรัฐ) และอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาล
การพิจารณาคดีของศาลปกครอง
๑. การตรวจสอบวัตถุประสงค์ ศาลมักจะเพิกถอนมาตรการที่กำหนดเพื่อวัตถุด้านอื่น ๆ นอกเหนือ ด้านรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัย ความสงบสุข สุขอนามัย
๒. การตรวจสอบเหตุผล คำสั่งหรือมาตรการต่าง ๆ ต้องชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
การตรวจสอบตำรวจทางปกครอง
๑. ตุลาการศาลปกครอง เพิกถอนกฎหรือคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย
๒. ผู้พิพากษาศาลแพ่ง การกระทำความผิดเป็นการส่วนตัว และการกระทำนอกเขตอำนาจ
๓. ผู้พิพากษาศาลอาญา การกระทำเกินขอบอำนาจ การกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา
๔.การควบคุมภายในฝ่ายปกครอง โดยผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่
อำนาจของตำรวจทางปกครอง มีอำนาจมากขึ้น บางกรณีเป็นอำนาจเด็ดขาด
๑. เกิดสงครามหรือเกิดจลาจล
๒. ประกาศกฎอัยการศึก
๓. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น