วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กฎหมายพรรคการเมือง





วิวัฒนาการของกฎหมายพรรคการเมืองในประเทศไทย
กฎหมายพรรคการเมืองคือปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่มีส่วนกำหนดลักษณะของพรรคการเมือง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติพรรคการเมืองทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498,พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511,พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2517,พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 นับเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรกของ
ประเทศไทย ที่มาของพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญในขณะนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ว่า ได้ให้เสรีภาพโดยบริบูรณ์ในการตั้งพรรคการเมืองภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่ในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ฉะนั้นเพื่อให้การจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการใช้เสรีภาพจัดตั้งพรรคการเมืองโดยมิต้องหวั่นเกรงว่าจะมีการเอากฎหมายว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับกับพรรคการเมือง จังได้มีการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น
ในพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้กำหนดวิธีการก่อตั้งพรรคไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ 500 คนขึ้นไปหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มีสิทธิขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต่อกระทรวงมหาดไทย พรรคการเมืองที่จดทะเบียนจัดตั้งแล้วมีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินกิจการทางการเมืองและกิจการอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรค ทั้งยังมีสิทธิรับเงินบำรุงจากสมาชิกหรือรับบริจาคจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งมีสถานที่ทำการของตนเอง ในส่วนของสถานะของพรรคการเมืองนั้น กฎหมายมิได้กำหนดให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคล แต่ก็สามารถเป็นโจทย์หรือจำเลยทางแพ่งในศาลได้ในนามของพรรคการเมืองเองโดยมีหัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการแทน ส่วนอำนาจในการเพิกถอนการจดทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งทำให้พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพลงนั้นเป็นอำนาจของศาล
พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501

2. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511
เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2511 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของ
ประชาชนในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองไว้ โดยกำหนดให้การจัดตั้งและการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ฉะนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้น เป็นฉบับที่สองของประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ยังคงยึดมั่นในหลักการที่ให้พรรคการเมืองต้อง
จดทะเบียน แต่วิธีการในการขอจดทะเบียนในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีรายละเอียดแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติฉบับก่อนกล่าวคือ ใช้วิธีการจดทะเบียนทำนองเดียวกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด โดยแบ่งขั้นตอนการจดทะเบียนเป็น 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนแรก เป็นขั้นตอนเตรียมการ โดยกำหนดว่าบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปจำนวนตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป หากมีความประสงค์จะดำเนินกิจการพรรคการเมืองก็สามารถแสดงเจตจำนงต่อนาทะเบียนเพื่อออกหนังสือเชิญชวนผู้อื่นให้สมัครเป็นสมาชิกพรรค เมื่อสามารถรวมรวมสมาชิกพรรคได้ไม่น้อยกว่า 500 คนแล้วก็สามารถดำเนินการต่อในขั้นตอนที่สองได้ภายในเวลา 1 ปี
ขั้นตอนที่สอง คือขั้นตอนการจดทะเบียน เมื่อผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนมีเอกสารตามที่กฎหมายระบุไว้ ได้แก่ บัญชีรายชื่อพร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ ที่อยู่และลายมือชื่อของสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับของพรรคการเมือง ครบถ้วนแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนที่กระทรวงมหาดไทยได้
นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้มีบทบัญญัติบางประการเพิ่มเติมไปจากพระราชบัญญัติฉบับแรก เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลภายหลังการจดทะเบียน (มาตรา 14) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และเพิ่มหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก องค์กรบริหารจัดการ และผลการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะต้องยุบเลิกถ้าจำนวนสมาชิกลดลงต่ำกว่า 500 คนหรือสมาชิกของพรรคไม่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน 2 ครั้ง (เชาวนะ ไตรมาศ, 2540 :หน้า 39-40) เป็นต้น
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

3. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517
ผลจากการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ประการ
หนึ่งก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 ซึ่งได้วางหลักการใหม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองไว้ก็คือกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องสังกัดพรรคการเมือง (มาตรา 117 {3}) และกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ต้องมีพรรคสังกัด (มาตรา 127 {7}และ{8}) ซึ่งเป็นการสรุปบทเรียนจากพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สมัครเข้ามาโดยไม่สังกัดพรรค (เกียรติฟ้า เลาหะพรสวรรค์ , 2541 : หน้า 90)

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้ คล้ายคลึงกับพระราชบัญญัติพรรค
การเมือง พ.ศ. 2511 อยู่มาก จะมีแตกต่างกันไปก็ตรงรายละเอียดปลีกย่อย เช่น การเพิ่มจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองชุดเริ่มจัดตั้งก่อนขอจดทะเบียนต้องมีไม่น้อยกว่า 1,000 คน (มาตรา 7) และพรรคการเมืองไม่ต้องถูกยุบเลิกพรรคแม้สมาชิกไม่ได้รับเลือกตั้งเลยก็ตาม
พระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.3ศ. 2519

4. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521 ซึ่ง
เริ่มเล็งเห็นว่าเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยก็คือจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงวางกรอบไว้ให้พรรคการเมืองต้องมีฐานในหมู่ประชาชนกว้างขวางขึ้น และกำหนดจำนวนผู้สมัครขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะต้องส่งในการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ให้พรรคการเมืองต้องบริหารภายในด้วยความโปร่งใสโดยการต้องจัดทำบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของพรรคไว้ด้วย
เนื่องจากกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่
ขึ้นและลดจำนวนพรรคขนาดเล็กลง พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับนี้จึงกำหนดเงื่อนไขในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ให้ยากขึ้นกว่าพระราชบัญญัติฉบับก่อนๆ โดยการเพิ่มจำนวนสมาชิกจัดตั้งก่อนขอจดทะเบียนเป็น 5,000 คนและในจำนวนสมาชิก 5,000 คนนั้นต้องประกอบด้วยสมาชิกจากภาคต่างๆ ภาคละ 5 จังหวัดและมีจำนวนสมาชิกในแต่ละจังหวัดจังหวัดละไม่น้อยกว่า 50 คน ทั้งยังวางหลักเกณฑ์ในการตั้งสาขาพรรคให้ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 100 คน ขึ้นไป นอกจากนี้ยังกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปอย่างน้อย 120 คนและต่อมาแก้ไขเป็นจำนวนหนึ่งในสี่ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พึงมี (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2538)มิฉะนั้นจะต้องถูกยุบเลิกพรรค
เนื่องจากพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524ได้เพิ่มบทบัญญัติที่เน้นการสร้างรูปแบบของพรรคการเมืองในลักษณะที่เป็นจักรกลมากขึ้น โดยหวังจะให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง () ที่เข้มแข็ง เติบโตเป็นพรรคขนาดใหญ่และมีจำนวนลดน้อยลงด้วยการนำเครื่องมือทางเศรษฐกิจมาใช้บังคับทางอ้อม เช่นการบังคับให้ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งคราวละไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวน ส.ส. ที่พึงมีซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก การขยายจำนวนสมาชิกเป็น 5,000 คนเป็นอย่างน้อย การตั้งสาขาพรรคต้องมีสมาชิก 100 คนขึ้นไป รวมทั้งการยุบเลิกพรรคหากสมาชิกไม่ได้รับเลือกตั้ง ประกอบกับรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ด้วย เหล่านี้จึงส่งผลให้บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายให้ความสำคัญกับชัยชนะหรือจำนวน ส.ส. ที่ได้จากการเลือกตั้งมากเป็นอันดับสูงสุด ทำให้มีการซื้อตัว แย่งตัวและการย้ายพรรคของ ส.ส. มีการเสนอระบบโควตามาใช้เพื่อจัดสรรตำแหน่งทางการเมือง ในการเลือกตั้งมีการทุ่มเงินซื้อเสียงและมีการจัดสูตรรัฐบาลผสมรูปแบบต่างๆ ระหว่างพรรคการเมืองเพื่อแยกฝ่าย ช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งหรือร่วมเป็นรัฐบาล ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพรรคการเมืองถูกกำหนดโดยสูตรของการจัดรัฐบาลผสมและความหวังของการเข้าร่วมรัฐบาล เมื่อมีการปรับเปลี่ยนสูตรของรัฐบาลผสม รวมทั้งส่งผลให้พรรคทางเลือก (potential party) มีบทบาทความสำคัญมากขึ้น ในฐานะที่เป็นตัวแปรในการอยู่รอดของรัฐบาล หรือในทางกลับกันพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่มีฐานะอำนาจเป็นตัวแปรก็อาจตกเป็นเบี้ยล่างของพรรคแกนนำ กรณีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เบี่ยงเบนมากที่สุดคือ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลที่เน้นกลยุทธ์ตีให้แตก เพื่อจัดสูตรผสมรัฐบาลเสียใหม่เมื่อเห็นว่าพรรคของตนมีศักยภาพเข้าแทนที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลและข้อเท็จจริงในทางการเมือง ส่งผลให้การตรวจสอบทางการเมืองของฝ่ายค้านที่มีต่อฝ่ายรัฐบาลนั้นไม่ได้วางอยู่บนพื้นฐานของหลักการตรวจสอบถ่วงดุล (Check & Balance) อย่างแท้จริง หากแต่เป็นกลยุทธ์เพื่อการแย่งชิงอำนาจระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเองเท่านั้น (เชาวนะ ไตรมาศ, 2540 :หน้า 40-41)

5. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541
ด้วยกระแสการเรียกร้องและกดดันทางการเมืองจากประชาชน กลุ่มพลังต่างๆ ทั่วประเทศ
เพื่อจะให้มีการปฏิรูปการเมือง จึงส่งผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองที่มีการนำเสนอนวัตกรรมหลายส่วน ทั้งยังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจหลายประการ ซึ่งเมื่อมองโดยภาพรวมแล้วจะเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและส่งเสริมระบบพรรคการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายประการ ดังนี้
1. การบัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของบุคคล (มาตรา 68) ไม่ใช่เป็นสิทธิอย่างที่แล้วๆ
มา
2. มีการกำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง (มาตรา 47) 3. สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน สมาชิก 500 คน โดยมีที่มาจาก 2
ส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละ 1 คนจำนวน 400 คนและ
ส่วนที่สองมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party list)100 คน
4. มีการเปลี่ยนวิธีการนับคะแนนเลือกตั้งจากเดิมที่เคยนับที่หน่วยเลือกตั้ง มาใช้วิธีนำหีบ
บัตรเลือกตั้งไปเทรวมกัน ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียวในเขตเลือกตั้งนั้นๆ
(มาตร 104 วรรคสี่)
5. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาไม่น้อยกว่า 90 วัน (มาตรา
105 [3])
6. มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง
7. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นสมาชิกพรรค
การเมืองที่ส่งสมัครไม่น้อยกว่า 90 วัน (มาตรา 107 [4])
8. ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในเวลาเดียวกัน (มาตรา 240)
9. พรรคการเมืองอาจลงมติขับสมาชิกพรรคด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น (มาตรา 118 [8])
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ว่า ผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญจำนวนตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไปสามารถรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้ (มาตรา 8) และต้องมีสมาชิกห้าพันคนขึ้นไปภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง และกระจายตามภาคและจังหวัดตามที่นายทะเบียนกำหนด และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา
อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ผสมกันระหว่าง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน (single-member constituency) ซึ่งมีวิธีคิดคะแนนแบบใช้เสียงข้างมากรอบเดียวหรือเสียงข้างมากอย่างง่าย (first-past-the-post-system) และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหนึ่งคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง (one man one vote) กับแบบรวมเขตในระบบบัญชีรายชื่อพรรค (party list) ซึ่งมีวิธีคิดคะแนนแบบสัดส่วน (proportional representation) และถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว (nation-list) โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหนึ่งคนออกเสียงเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง
มีทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ทฤษฎีหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความแม่นตรงจากประสบการณ์ของประเทศที่แตกต่างกันหลายประเทศก็คือ ระบบการเลือกตั้งมีผู้แทนได้คนเดียวนั้น โน้มเอียงที่จะเอื้อให้เกิดระบบพรรคการเมืองแบบสองพรรค (two party system) เพราะระบบการเลือกตั้งแบบนี้จะบีบให้นักการเมืองทั้งหลายต้องรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ที่แข่งขันต่อสู้กันสองพรรค (เจอรัลด์ แอล. เคอร์ติส, 2539 : 16) เช่นที่เป็นอยู่ในอังกฤษ ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนนั้นจะเอื้ออำนายให้พัฒนาไปสู่ระบบหลายพรรค (multi- party system) เช่นในประเทศเยอรมันและหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็กในประเทศญี่ปุ่นที่สนับสนุนการมีผู้แทนตามระบบสัดส่วน อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ผสมกันระหว่าง แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตละหนึ่งคน (single-member constituency) ซึ่งมีวิธีคิดคะแนนแบบใช้เสียงข้างมากรอบเดียวหรือเสียงข้างมากอย่างง่าย (first-past-the-post-system) และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหนึ่งคนมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง (one man one vote) กับแบบรวมเขตในระบบบัญชีรายชื่อพรรค (party list) ซึ่งมีวิธีคิดคะแนนแบบสัดส่วน (proportional representation) และถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว (nation-list) โดยผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งหนึ่งคนออกเสียงเลือกตั้งได้หนึ่งเสียง
นอกจากนี้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังระบุรายละเอียด
1) การจัดองค์กรของพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดองค์กรภายของพรรคการเมืองดังต่อไปนี้
- คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามนโยบาย ข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ของพรรค (มาตรา20)
- คณะกรรมการบริหารพรรคประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง รองหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง รองเลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง โฆษกพรรคการเมืองและคณะกรรมการบริหารอื่นๆ ซึ่งเลือกตั้งจากสมาชิกซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (มาตรา12)
2) การรวมและการยุบพรรคการเมือง
เจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองนั้นต้องการส่งเสริมเสถียรภาพของพรรคการเมืองและต้องการให้ระบบการเมืองไทยมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเพียงน้อยพรรค ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2541 จึงวางหลักเกณฑ์เงื่อนไขส่งเสริมให้พรรคการเมืองขนาดเล็กยุบพรรคหรือรวมพรรคเพื่อให้เกิดพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2541 ได้วางหลักเกณฑ์ในการรวมพรรคไว้ดังนี้
2.1 การรวมพรรคการเมือง
2.1.1 การรวมพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ กฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ (มาตรา 70)
1) ในกรณีที่เป็นการรวมพรรคเพื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่นั้น พรรคที่จะรวมกัน
จะต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรค
2) เมื่อที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรคเห็นชอบแล้ว ให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร
พรรคจำนวนพรรคละ 10 คน ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบายพรรคการเมืองและข้อบังคับพรรคการเมือง
3) เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ก็ให้มีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกของทุกพรรคการเมืองที่จะรวมกัน เพื่อประชุมจัดตั้งพรรคการเมือง การเรียกประชุมจัดตั้งพรรคต้องแจ้งให้สมาชิกของพรรคทราบก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน
4) เมื่อนายทะเบียนจดแจ้งการตั้งพรรคการเมืองแล้ว นายทะเบียนต้องดำเนินการตามมาตรา 62 วรรค 2 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองที่รวมเข้ากันเป็นอันยุบไป และให้ ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองเดิมเป็น ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองใหม่
2.1.2 การรวมพรรคการเมืองเข้าเป็นพรรคเดียวกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก
การรวมพรรคการเมืองเข้าเป็นพรรคเดียวกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1) ในกรณีที่การรวมพรรคการเมืองเป็นการรวมพรรคหนึ่งหรือหลายพรรคการเมือง เข้าเป็นพรรคการเมืองกับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลัก พรรคการเมืองที่จะรวมกัน ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของแต่ละพรรค
2) เมื่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคเห็นชอบให้รวมกันแล้ว หัวหน้าพรรคการเมืองที่จะรวมตัวกันทุกพรรคต้องแจ้งการรวมพรรคต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 62 วรรค 2 คือยื่นร่วมต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบัยน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองที่รวมเข้ากับอีกพรรคการเมืองที่เป็นหลักนั้นยุบไป นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
2.2 การเลิกและการยุบพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2541ได้กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองย่อมเลิกหรือยุบด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ (มาตรา 65)
1) มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง
2) มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึง 15 คน
3) มีการยุบพรรคการเมืองไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น
4) มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง
5) ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย อาทิเช่น องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองไม่ครบ หรือไม่สามารถหาสมาชิกได้อย่างน้อย 5,000 คนภายใน 180 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง

3) ระบบเงินสนับสนุนพรรคการเมือง
ระบบเงินอุดหนุนพรรคการเมืองโดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ระบบคือ ระบบเงินอุดหนุนจากเอกชน (Private Financing) และระบบเงินอุดหนุนจากรัฐ(Public Financing) (สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ : 270)
3.1 ระบบเงินอุดหนุนจากเอกชน (Private Financing) หมายถึงการได้มาซึ่งรายรับของพรรคการเมืองจากผู้สนับสนุนทางการเมืองซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือองค์กรทางธุรกิจหรือองค์กรอื่นๆ
การบริจาคเงินเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปดำเนินการตามนโยบายของพรรคการเมืองนั้นต้องดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้
“ห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดินหรือกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศหรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน”(มาตรา 52)
นอกจากนี้กฎหมายพรรคการเมืองห้ามมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองหรือดำเนินกิจการทางการเมืองจากบุคคลหรือองค์กรดังต่อไปนี้ (มาตรา 53)
(1) บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(2) นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่
ในหรือนอกอาณาจักร
(3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือ
หุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า
(4) องค์กรหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมี
วัตถุประสงค์ดำเนินกิจการเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือมีผู้จัดการ
หรือกรรมการเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย
(5) บุคคล องค์กร หรือนิติบุคคลตามที่ได้รับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อดำเนิน
กิจการของพรรคการเมืองหรือเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลองค์การหรือ
นิติบุคคลตาม (1) (2) (3) (4)
(6) บุคคล องค์การหรือนิติบุคคลตามที่กำหนดในประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ การห้ามพรรคการเมืองรับเงินสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์การดังกล่าวก็เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองถูกแทรกแซงหรือครอบงำจากบุคคลหรือองค์กรจากต่างชาติ นอกจากนี้เพื่อให้การดำเนินงานของพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ กฎหมายจึงได้กำหนดให้หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคและกรรมการสาขาพรรคการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู้สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (มาตรา 42)
3.2 ระบบเงินอุดหนุนจากรัฐ เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับปี พ.ศ. 2541 ระบุว่า รัฐจะต้องสนับสนุนการดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยการให้เงินอุดหนุนแก่พรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้พรรคการเมืองปลอดจากอิทธิพลครอบงำจากกลุ่มทุนหรือองค์กรที่สนับสนุนอยู่

จะเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองปี พ.ศ. 2540 และ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งขึ้นมาในขณะเดียวกันก็ต้องการลดจำนวนของพรรคขนาดเล็กลง
กล่าวได้ว่าแนวทางในการออกกฎหมายพรรคการเมืองไทยในอดีตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่และหาทางลดจำนวนของพรรคขนาดเล็กลง โดยอาศัยการกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขบางอย่างเอาไว้ เช่น กำหนดจำนวนสมาชิกพรรค จำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งขั้นต่ำที่พรรคต้องส่งเอาไว้ เป็นต้น หากพรรคการเมืองใดไม่สามารถดำเนินการได้ก็ต้องยุบพรรค ดังจะเห็นได้ว่า ในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ได้กำหนดว่าพรรคการเมืองต้องถูกยกเลิกถ้ามีจำนวนสมาชิกต่ำกว่า 500 คน ในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 ได้กำหนดให้เข้มงวดขึ้นโดยการกำหนดให้พรรคต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 1,000 คน การจัดตั้งพรรคก็เป็นไปได้ยากขึ้น หรือในกรณีของพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2524 ก็ยิ่งวางเงื่อนไขไว้เข้มงวดมากขึ้น โดยกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งคราวละไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดที่พึงมี พรรคการเมืองต้องขยายสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน การจัดตั้งสาขาพรรคต้องมีจำนวนสมาชิก 100 คนขึ้นไป รวมทั้งพรรคการเมืองจะต้องถูกยุบถ้าไม่มีสมาชิกคนใดได้รับเลือกตั้ง (สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์, 203) เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น