วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประเภทของกฎหมาย


การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท
(1) กฎหมายมหาชน (Public Law)
(2) กฎหมายเอกชน (Private Law)
(3) กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)

1. กฎหมายมหาชน (Public Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้ ดังนี้
(1) รัฐธรรมนูญ
(2) กฎหมายปกครอง
(3) กฎหมายอาญา
(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา
(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง

(1) รัฐธรรมนูญ หมายถึง กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบแห่งอำนาจสูงสุดในรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนั้น ๆ ต่อกันและกัน ลักษณะทั่วไปคือ
ก. กำหนดระเบียบแห่งอำนาจสูงสุด อำนาจอธิปไตย ใครเป็นเจ้าของ (มาตรา
3 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้)
ข. รัฐธรรมนูญต้องมีข้อความกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการต่อกันและกัน

(2) กฎหมายปกครอง ได้แก่กฎหมายที่กำหนดรายละเอียดในการปกครองลดหลั่นลง
จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยอำนาจการปกครองประเทศแต่กฎหมายปกครองเป็นกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปกครอง ซึ่งในกฎหมายนี้จะกล่าวถึงการจัดระเบียบแห่งองค์การปกครอง (เช่น จัดแบ่งออกเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือ เทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ ความเกี่ยวพันระหว่างองค์การเหล่านี้ต่อกันและกัน และความเกี่ยวกับระหว่างองค์การเหล่านี้กับราษฎร) กฎหมายปกครองไม่ได้รวบรวมขึ้นในรูปของประมวลกฎหมาย กฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขากฎหมายปกครองเป็นจำนวนมาก อาทิ เช่น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องถิ่น พระราชบัญญัติจัดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พระราชบัญญัติเทศบาล พระราชบัญญัติสุขาภิบาล พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด และพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล

(3) กฎหมายอาญา ได้แก่กฎหมายที่บัญญัติถึงความผิดและโทษ แยกพิจารณาได้ดังนี้
การบัญญัติความผิด หมายความว่า การบัญญัติว่าการกระทำและการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดอาญา
การบัญญัติโทษ หมายความว่า เมื่อใดบัญญัติว่าการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างใดเป็นความผิดแล้ว ก็ต้องบัญญัติโทษอาญาสำหรับความผิดนั้นไว้ด้วย

ประมวลกฎหมายอาญาแบ่งออกเป็น 3 ภาค ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป ภาค 2 ความผิด ภาค 3 ลหุโทษ ภาค 1 ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาให้นำไปใช้ในกรณีความผิดตามกฎหมายอื่นได้ด้วย

หลักเกณฑ์สำคัญ ของประมวลกฎหมายอาญา มีดังนี้
(1) จะไม่มีความผิดโดยไม่มีกฎหมาย [1]
(2) จะไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย โทษอย่างไรก็ต้องลงอย่างนั้น จะให้ลงโทษอย่างอื่นไม่ได้
(3) จะต้องตีความกฎหมายอาญาโดยเคร่งครัด
(4) การอุดช่องว่างแห่งกฎหมาย อุดช่องว่าเป็นผลร้ายแก่จำเลยไม่ได้
(5) จะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้จากความรับผิดไม่ได้(มาตรา64)

หลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความผิดอาญา มี 3 ข้อ
1. ต้องมีการกระทำ
2. การกระทำนั้นเข้าองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด
3. ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ หรือ ไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด

(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลและอำนาจในการพิจารณาพิพากษาของศาลและของผู้พิพากษา มีหลักการดังนี้
(1) หลักอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ต้องเป็นของศาลโดยเฉพาะ
(2) หลักการจัดตั้งศาล จัดตั้งศาลต้องกระทำโดยพระราชบัญญัติ
(3) หลักการห้ามตั้งศาลพิเศษ
(4) หลักการผู้พิพากษาย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามรัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้ 2 ประการ คือ
(ก) การแต่งตั้ง ย้าย ถอดถอน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการก่อนแล้วจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งและถอดถอนหรือโยกย้ายได้
(ข) การเลื่อนตำแหน่งการเลื่อนเงินเดือน ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการ หลักประกันทั้ง 2 ประการ ดังกล่าวทำให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารจะให้คุณหรือโทษผู้พิพากษาไม่ได้ คณะกรรมการตุลาการเป็นคนกลางไม่ขึ้นต่อฝ่ายบริหาร

(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการที่จะนำตัวผู้กระความความผิดมารับโทษตามความผิดที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา เริ่มตั้งแต่ ขอบเขตของเจ้าพนักงานตำรวจ อัยการ และศาลในการพิจารณาคดี หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาคดีเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) หลักการเริ่มคดีอยู่ที่คู่ความ ไม่ว่าจะเป็นตัวฟ้องก็ดี คำให้การก็ดี หรือคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีแพ่งก็ดี คู่ความจะต้องระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
(2) การพิจารณาดำเนินไปโดยเคร่งครัดต่อแบบพิธี เช่นว่า การยื่นเอกสารจะต้องยื่นต้นฉบับ หรือกรณีใดยื่นสำเนาเอกสารได้ เป็นต้น เพราะการปฏิบัติไม่ถูกต้องอาจมีผลให้ศาลไม่รับฟังพยานเอกสารนั้น
(3) ไม่จำเป็นต้องถือเอาความสัตย์จริงเป็นใหญ่ เพราะคู่ความต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เช่น คดีฟ้องของเรียกเงินกู้ ความจริงมิได้กู้ แต่จำเลยเห็นว่าเป็นจำนวนเงินเล็กน้อย จึงยอมรับว่ากู้มาจริง ศาลก็ต้องพิพากษาให้เป็นไปตามฟ้องของโจทก์และคำรับของจำเลย เว้นแต่ในกรณีที่ศาลอาจยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาอ้างได้ ศาลอาจวินิจฉัยไปโดยไม่ฟังคำรับของคู่ความก็ได้

2. กฎหมายเอกชน(Private Law) ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข. ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้ มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้ ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอื่น ๆ โดยสรุป
(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายแบ่งแยกออกเป็นหลายลักษณะด้วยกัน เช่น นิติกรรมสัญญา หนี้ ซื้อขาย เช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ละเมิด ตัวแทน นายหน้า เป็นต้น ในแต่ละลักษณะได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้ ในการศึกษากฎหมายของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย จะมีการศึกษาถึงเนื้อหารายละเอียดในกฎหมายนั้น ๆ แต่ละลักษณะ แต่ในที่นี้ที่กล่าวถึงไว้ก็เพียงเพื่อให้ทราบว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน เท่านั้น
(2) กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน อันมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนยังมีอยู่อีกมาก อันได้แก่พระราชบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษอื่น อย่างเช่น ประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งจำกัดสิทธิในการมีที่ดินของบุคคลบางประเภท เช่น คนต่างด้าว เป็นต้น พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งกฎหมายมหาชนและกึ่งกฎหมายเอกชน เพราะมีบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

3. กฎหมายระหว่างประเทศ(International Law) หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้ 3 สาขา คือ
(1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น กำหนดข้อบังคับการทำสงครามระหว่างกันและกัน
(2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีบุคคล คือ ในทางเอกชนหรือในทางแพ่ง กฎหมายนี้จะกำหนดว่าถ้าข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง เช่น การสมรสกับหญิงที่เป็นคนต่างด้าว หรือการซื้อขายของที่อยู่ในต่างประเทศจะใช้กฎหมายภายในประเทศ (คือกฎหมายไทย) หรืออาจใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่คดีนั้น ๆ
(3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันทางคดีอาญา เช่น กำหนดว่าการกระทำความผิดนอกประเทศในลักษณะใดบ้างจะพึงฟ้องร้องในประเทศไทย ตลอดจนวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น